ขอแชร์ ' กฎลงทุน 10 ข้อ ของ บ็อบ ฟาเรล' ครับ
-
แนวคิดการลงทุนนี้.. ออกจะเป็นแนวกลยุทธ์ผสมเชิงเทคนิคครับ
กฎลงทุน 10 ข้อ ของ บ็อบ ฟาเรล
ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ
บ็อบ ฟาเรล ถือเป็นนักวิเคราะห์ด้านเทคนิคและนักกลยุทธ์ระดับชั้นนำ ของแบงก์สหรัฐที่มีชื่อเสียงมากในยุคทศวรรษ 80 เขาได้ตั้งกฎการลงทุน 10 ข้อ ของ บ็อบ ฟาเรล ที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก ดังนี้
1. ตลาดมีแนวโน้มจะเข้าสู่ค่าเฉลี่ย เมื่อเวลาผ่านไปเรื่อยๆ
น่าจะไม่มีอะไรดีไปกว่าการพล็อตจุดต่างๆของอัตราผลตอบแทนของตลาดหุ้นสหรัฐในอดีต ซึ่งจะขอใช้ดัชนี S&P500 ของตลาดหุ้นสหรัฐ ที่มีอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยระยะยาวที่ราว 7% หากไปดูรูปเมื่อตีเส้นค่าเฉลี่ยระยะยาวดังกล่าว จะพบว่ามีทั้งส่วนที่มีอัตราผลตอบแทนสูงและต่ำกว่าค่าเฉลี่ยสลับกัน
และเข้าสู่ค่าเฉลี่ยในระยะยาว
2. ส่วนที่เกินเลยไปสำหรับในทิศทางหนึ่ง มักจะนำไปสู่ส่วนที่เกินเลยไปในทิศทางตรงกันข้ามตัวอย่างของการลงมากๆไปในทางหนึ่ง แล้วกลับมาพุ่งขึ้นแบบร้อนแรงในอีกทาง คงไม่ต้องดูอื่นไกลไปจากดัชนีหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐ Nasdaq ที่ในปี 2022 อัตราผลตอบแทนติดลบกว่า 20% จากนั้นในปี 2023 อัตราผลตอบแทนกลัยมาพลิกเป็นบวกด้วยขนาดไล่ๆกันที่กว่า 20% และในช่วง 5-6 เดือนแรกของปี 2024 อัตราผลตอบแทนตลาดหุ้นสหรัฐยังคงร้อนแรงต่อเนื่องจากหุ้น Mag-7
3. ไม่มียุคแห่งศักราชใหม่: ส่วนเกินของราคาไม่เคยเป็นสิ่งถาวรและยั่งยืน
หากจะให้ยกตัวอย่างการโฆษณาชวนเชื่อว่าเราได้เข้าสู่ยุคศักราชใหม่ที่เศรษฐกิจหรือการลงทุนแนวใหม่ล่าสุดจะสร้างความร่ำรวยให้เป็นอย่างถาวรและยั่งยืน จะขอเริ่มตั้งแต่ในศตวรรษที่ 17 ซึ่งเกิดวิกฤตการเก็งกำไร Tulip Mania ในยุโรป ไล่เรียงมาจนถึงในบ้านเรา ที่มีการเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ในช่วงก่อนวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 1997 แล้ว ข้ามไปสู่ Dot Com Bubble ในสหรัฐ เมื่อปี 1999 ซึ่งฟองสบู่หุ้นอินเตอร์เน็ตแตกในตลาดสหรัฐในปีถัดมา แล้วจึงมาสู่วิกฤตซับไพร์มที่ตราสาร Securitization ที่อ้างอิงสินเชื่อบ้านสหรัฐได้นำมาซึ่งวิกฤตการเงินโลกในปี 2008 จนกระทั่งมาสู่การแตกของฟองสบู่คริปโต้ในปี 2022
4. การพุ่งขึ้นหรือทะยานลงของดัชนีตลาดหุ้นแบบเอ็กซ์โปเนนเชียล มักจะไปไกลกว่าที่คุณคิด ทว่าไม่เคยถูกทำให้กลับเหมือนเดิม (Correct) ด้วยตลาดที่เป็นแบบไซด์เวย์
ฟาเรลมองว่าการที่ตลาดขึ้นไปในจุดสูงมากๆ ทำให้หลายคนเกิดความประมาทว่าจะไม่ร่วงลงมาแบบพลิกโฉม
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด ในแบบที่ตลาดหุ้นเมื่อขึ้นถึงจุดสูงสุด แล้วไม่ได้เป็นตลาดแบบไซด์เวย์ในจังหวะถัดไป ทว่าจะดิ่งลงมาเรื่อยๆ ดูจะไม่ใช่ตลาดอื่นไกล คือดัชนีตลาดหุ้นไทยนั่นเอง
โดยหลังจากที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยร่วงลงมาเหลือไม่กี่ร้อยจุดในช่วงต้นปี 2009 หลังวิกฤตซับไพร์ม และได้ขึ้นถึงจุดสูงสุดที่เกือบ 1,900 จุดเมื่อต้นปี 2018 หากเรามาพิจารณาดัชนี ณ ตอนนี้ ที่ระดับประมาณ 1,200 ปลายๆ จะพบว่าการ Correct จากจุดสูงสุดไม่ได้เป็นแบบตลาดไซด์เวย์จริงๆ ซึ่งน้อยคนในปี 2018 จะคิดว่าตลาดหุ้นไทยจะกลับมาสู่จุด 1,200 กว่าๆ โดยที่ไม่นับช่วงวิกฤตโควิด เนื่องจากถือเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติแบบเหนือความคาดหมายของคนทั่วโลก
5. คนทั่วไปโดยส่วนใหญ่จะซื้อมากที่สุดตรงราคายอดดอย และซื้อน้อยที่สุด ตรงจุดต่ำสุดของตลาด
บ็อบ ฟาเรล ได้นำข้อมูลการซื้อขายหุ้นของนักลงทุนในบริษัทที่ตนเอง ทำงานอยู่มาวิเคราะห์ เขาพบว่าคนส่วนใหญ่ซื้อหุ้นเยอะในช่วงที่ ราคากำลังถึงจุดสูงสุด และขายหุ้นเยอะในช่วงที่ราคาดิ่งต่ำสุด เขาจึงนำผลการวิเคราะห์มาเขียนเป็นกฎการลงทุนในข้อนี้ ว่าเป็นอารมณ์ของนักลงทุนที่พาเข้าไปซื้อหรือขายจากการคาดหวังราคา ในจังหวะถัดไป มากกว่าปัจจัยพื้นฐานจริงๆที่พาไปซื้อหรือขายหุ้น
โดยยิ่งคนซื้อหุ้นเยอะ แสดงว่าความอ่อนไหวต่อราคาที่จะร่วงลงมีสูงขึ้น ในทางกลับกัน หากคนส่วนใหญ่พากันกลัว แสดงความเสี่ยงอยู่ในระดับที่ลดลง
6. ความกลัวและความโลภนั้น มักจะมีความรุนแรงมากกว่า สิ่งที่ไตร่ตรองเป็นอย่างดี จากการมองเป้าหมายการลงทุนประกอบกับ ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
ตัวอย่างในบ้านเรา ผมมองว่าคนที่ถือกองทุน RMF ที่ใกล้จะครบอายุไถ่ถอน น่าจะซื้อมาไม่ต่ำกว่า 15-20 ปี ซึ่งในยุคนั้น มีแต่กองทุนที่ถือครองหุ้นไทย โดยดัชนีหุ้นไทยขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่เกือบ 1,900 จุดเมื่ อต้นปี 2018 ผมมองว่าน้อยคนจะสลับกอง RMF ในช่วงนั้น ไปสู่กอง RMF ต่างประเทศ เนื่องจากมองว่าตลาดหุ้นไทยยังน่าจะไปต่อหรืออย่างน้อยก็ยืนได้ นั่นคือสิ่งที่ไตร่ตรองเป็นอย่างดี จากการมองเป้าหมายการลงทุนประกอบกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ถูกอิทธิพลของความโลภมากลบ
หรืออีกตัวอย่างในสหรัฐ เมื่อปี 1999 ที่ตลาดหุ้นสหรัฐพุ่งขึ้นจากกระแสอินเตอร์เน็ต ผู้ถือกองทุนบำนาญส่วนใหญ่ไม่ยอมไถ่ถอนกองทุนออกมาเนื่องจากต้องการได้อัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้นไปอีก จนในปีต่อมาตลาดหุ้นลดลง 81% ตามด้วยการที่ตลาดหุ้นสหรัฐได้ไซด์เวย์ต่อไปอีก 12 ปี
7. ตลาดจะแข็งแกร่งที่สุด เมื่อมีหุ้น blue-chip อยู่ในสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับจำนวนหุ้นทั้งหมด และ ตลาดจะอ่อนแอที่สุด เมื่อมีหุ้น blue-chip อยู่ในสัดส่วนที่ต่ำเมื่อเทียบกับจำนวนหุ้นทั้งหมด
มาตรวัดหนึ่งที่จะวัดว่าตลาดหุ้นที่เป็นขาขึ้นจะเป็นการขึ้นที่มีความแข็งแกร่งหรือไม่นั้น ได้แก่ Breadth หรือจำนวนหุ้นที่ราคาขึ้นจนสามารถ นำพาให้ดัชนีตลาดหุ้นทั้งตลาดพุ่งขึ้นมา โดยจากในอดีตที่ผ่านมา ตลาดหุ้นสหรัฐในทศวรรษที่ 1970 ซึ่งมักจะเรียกว่ายุค Nift Fifty และปี 1999 เป็นขาขึ้นแบบพุ่งทะยานทว่าไม่สามารถยืนระยะได้ เนื่องจาก Breadth ถือว่าค่อนข้างแคบ หรือจำนวนหุ้น blue-chip ที่พาตลาดหุ้นขึ้นมามีอยู่ไม่กี่ตัว
โดยในช่วงนี้ บรรดาหุ้น Mag-7 ที่นำพาตลาดหุ้นสหรัฐพุ่งขึ้นมาในกว่า 1 ปีที่ผ่านมา จะสามารถยืนระยะได้นานกว่าตลาดหุ้นสหรัฐทั้ง 2 ครั้งในอดีต ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นหรือไม่
8. ตลาดหมี จะแบ่งได้เป็น 3 สถานะ ได้แก่ ลดลงอย่างรวดเร็ว, กระเตื้องกลับมาอย่างรวดเร็วแบบที่ตลาดคิดว่าลงมากไป และสู่แนวโน้มขาลงแบบลากยาวตามปัจจัยพื้นฐาน
9. เมื่อผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่คาดการณ์ตลาดทุกท่าน ต่างเห็นพ้องต้องกันว่าจะเกิดสิ่งหนึ่ง ก็จะมีสิ่งอื่นเกิดขึ้นมาแทน
ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ภาวะ Recession ในปี 2023 ที่นักเศรษฐศาสตร์ทุกท่านฟันธงจากเส้นโค้งอัตราดอกเบี้ยแบบกลับหัวของตลาดพันธบัตรสหรัฐ ท้ายสุดแล้วก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริง
- ตลาดกระทิงน่าสนุกมากกว่าตลาดหมี ซึ่งทุกคนย่อมต้องรู้สึกเช่นนั้น !
-
@bonthr ขอบคุณครับ อาจารย์บุญธรรม
-
@meesookho ด้วยความยินดีมากๆครับ.. อาจารย์จ๊อบ