เครดิตภาษีเงินปันผล
-
เวลาที่เราได้รับเงินปันผลจากหุ้นสามัญมา เข้าใจว่า เราถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% ผมได้ยินคนพูดถึงเรื่องการทำเครดิตภาษีเงินปันผล แต่ไม่ค่อยเข้าใจ และไม่แน่ใจว่า ควรจะต้องทำหรือไม่ ต้องสังเกตอย่างไรครับ?
-
ที่มาของการทำเครดิตภาษีเงินปันผล คือ
เงินปันผลที่เราได้รับจากบริษัทนั้น โดยปกติ บริษัทจะต้องเสียภาษีนิติบุคคลมาก่อนที่จะจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้น เช่น หากบริษัทมีกำไรสุทธิ 100 บาท หากต้องเสียภาษีนิติบุคคล 20% ก็จะเหลือกำไรสุทธิหลักหักภาษี 100 - 20 (20% ของ 100) = 80 บาท
เมื่อนำกำไรนั้นมาจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย อีก 10% ก็จะเหลือ 80 - 8 (10% ของ 80) = 72 บาท
จะเห็นได้ว่ากว่าเงินปันผลจะถึงมือผู้ถือหุ้น กำไรของบริษัทนั้นมีการเสียภาษีไปแล้ว 2 รอบ คือ 20 บาท และ 8 บาท รวมเป็น 28 บาท
กรมสรรพากรจึงอนุญาตให้ผู้เสียภาษีสามารถทำเครดิตภาษีเงินปันผลได้ โดย การนำภาษีทั้ง 2 ส่วน (ในตัวอย่างนี้ คือ 20 บาท และ 8 บาท) กลับมารวมให้เป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีครั้งเดียว ตามฐานภาษีของผู้เสียภาษีนั้น โดยจะต้องนำไปรวมกับรายได้ประเภทอื่นๆ ด้วย
จากตัวอย่างนี้ เงินจำนวน 20 บาท ถูกเรียกว่า เครดิตภาษีเงินปันผล (หมายถึง เงินที่นำกลับมา จากภาษีที่ถูกเก็บไปก่อนในรอบแรก) ไม่เกี่ยวกับ 8 บาท ที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้ในรอบที่ 2 (ก้อนนี้จะเรียกว่า ภาษี หัก ณ ที่จ่าย) นะครับ
สังเกตได้ว่า ตามตัวอย่างนี้ หากผู้ถือหุ้น ไม่ทำเครดิตภาษีเงินปันผล คือ ยอมให้มีการหัก ณ ที่จ่าย 10% หมายถึง ภาษีถูกเรียกเก็บไป 2 รอบ เป็นจำนวนเงิน 28 บาท จากกำไรทั้งหมด 100 บาท หรือคิดเป็น 28%
เพราะฉะนั้น หากผู้ถือหุ้น นำ 28% กลับมาคิดภาษีใหม่ แล้วฐานภาษีต่ำกว่า 28% ย่อมทำให้ มีโอกาสประหยัดภาษี หรือ ได้เงินคืนกลับมา
อย่างไรก็ตาม การคำนวณ อาจจะมีความซับซ้อนได้ เพื่อให้มั่นใจว่า การทำเครดิตภาษีเงินปันผล เป็นผลดีต่อผูุ้ถือหุ้น แนะนำให้ ทดลองใช้โปรแกรมของกรมสรรพากร (หรือ application ที่ช่วยในการคำนวณภาษี เช่น itax) คำนวณภาษี ในกรณีที่เราทำ และ ไม่ทำ เครดิตภาษีเงินปันผล ดูว่า ทางเลือกใดประหยัดกว่ากันครับ
-
ลองศึกษาตามคลิปนี้ดูเพื่อประกอบความเข้าใจครับ